การยอมรับความสามารถในการทดสอบ (A recognition of testing competence)

          “หน่วยรับรองห้องปฏิบัติการจำนวนมากจะเผยแพร่บัญชีรายชื่อห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง รวมทั้งข้อมูลเพื่อการติดต่อและข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการทดสอบ นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งในการส่งเสริมบริการของห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองให้กับลูกค้าเป้าหมาย
          โดยข้อตกลงระหว่างประเทศ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจะได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการได้รับการยอมรับโดยทันทีมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ การยอมรับนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ใช้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์หรือวัสดุจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง เนื่องจากได้ลดหรือยกเว้นความต้องการทดสอบซํ้าในอีกประเทศหนึ่ง”

เกณฑ์เป้าหมายการปฏิบัติงาน (A benchmark for performance)
          การรับรองห้องปฏิบัติการให้ประโยชน์แก่ห้องปฏิบัติการโดยช่วยให้ห้องปฏิบัติการสามารถ พิจารณาตนเองว่าได้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานที่เหมาะสมหรือไม่ และยังเป็นเกณฑ์เป้าหมาย (benchmark) ในการรักษาขีดความสามารถ ห้องปฏิบัติการจำนวนมากทำงานอย่างโดดเดี่ยวจากห้องปฏิบัติการอื่น และแทบจะไม่เคยถูกประเมินทางวิชาการอย่างเป็นอิสระในฐานะตัววัดผลการปฏิบัติงาน การตรวจประเมินเป็นประจำ โดยหน่วยรับรองห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจสอบทุกด้านของการทำงานที่ เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ประเด็นเพื่อการปรับปรุงการทำงานจะถูกชี้และอภิปราย และมีการจัดทำรายงานโดยละเอียดเมื่อสิ้นสุดกระบวนการตรวจประเมินในแต่ละครั้ง หากจำเป็นการปฏิบัติการแก้ไขจะถูกเฝ้าระวังโดยหน่วยรับรองห้องปฏิบัติการ ดังนั้นห้องปฏิบัติการสามารถมั่นใจว่าได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสมเพิ่มเติมจากบริการทดสอบและสอบเทียบเชิงพาณิชย์ องค์กรที่ทำการผลิตอาจใช้การรับรองห้องปฏิบัติการเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในการทดสอบผลิตภัณฑ์ของตนโดยห้องปฏิบัติการภายใน (inhouse laboratory) ว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง

ทางเลือกระหว่างการรับรองห้องปฏิบัติการ และการรับรองตามมาตรฐาน ISO 9001
          การรับรองห้องปฏิบัติการใช้เกณฑ์และขั้นตอนที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตัดสินความสามารถด้านวิชาการ ผู้ประเมินวิชาการจะตรวจประเมินปัจจัยทั้งหมดในห้องปฏิบัติการอย่างถี่ถ้วน ที่มีผลต่อการผลิตข้อมูลการทดสอบ/สอบเทียบ เกณฑ์ประเมินจะเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่เรียกว่า ISO/IEC 17025 (ซึ่งก่อนหน้าใช้มาตรฐาน ISO/IEC Guide 25) ซึ่งใช้ประเมินความสามารถห้องปฏิบัติการทั่วโลก หน่วยรับรองห้องปฏิบัติการใช้มาตรฐานเฉพาะในการประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถห้องปฏิบัติการ ซึ่งรวมถึง
          ♦ ความสามารถทางวิชาการของเจ้าหน้าที่
          ♦ ความเหมาะสมและผ่านการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีการทดสอบ
          ♦ ความสามารถในการสอบกลับได้ของการวัดและการสอบเทียบไปยังมาตรฐานระดับชาติ
          ♦ ความเหมาะสมของเครื่องมือทดสอบ การสอบเทียบ และการบำรุงรักษา
          ♦ ภาวะแวดล้อมของการทดสอบ/สอบเทียบ
          ♦ การสุ่ม การจัดการและการขนส่งตัวอย่าง
          ♦ การประกันคุณภาพของข้อมูลที่ได้จากการทดสอบ/สอบเทียบ
โดยกระบวนการนี้การรับรองห้องปฏิบัติการมุ่งให้หลักประกันแก่ห้องปฏิบัติการหรือลูกค้า ของห้องปฏิบัติการว่าข้อมูลการทดสอบ/สอบเทียบจากห้องปฏิบัติการมีความถูกต้องและเชื่อถือได้
           มาตรฐาน ISO 9001 ได้มีการใช้อย่างกว้างขวางในองค์กรการผลิต และการบริการที่จะประเมินระบบการจัดการด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการ การรับรองระบบการบริหารคุณภาพขององค์กรตามมาตรฐาน ISO 9001 มุ่งเน้นไปที่ความสามารถของระบบการจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานนี้ ถึงแม้ห้องปฏิบัติการจะได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 9001 แต่การรับรองนี้มิได้ประเมินความสามารถด้านวิชาการของห้องปฏิบัติการ

การยอมรับระหว่างประเทศสำหรับห้องปฏิบัติการ
          ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะมีหน่วยงานอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่รับผิดชอบในการให้การรับรองห้องปฏิบัติการในประเทศของตน หน่วยรับรองห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ใช้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 เป็นพื้นฐานในการรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบในประเทศของตน ทำให้เกิดการใช้มาตรฐาน เดียวกันในการประเมินความสามารถห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการต่างๆ ใช้วิธีทดสอบและวิธีวัดที่เป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
          ความเป็นเอกภาพของกระบวนการเดียวกันเช่นนี้ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถร่วมกันสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศบนพื้นฐานการประเมินเพื่อการยอมรับร่วม และการยอมรับระบบการรับรองห้องปฏิบัติการซึ่งกันและกัน ซึ่งข้อตกลงระหว่างประเทศนี้เรียกว่า ข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ซึ่งทำให้ผลการทดสอบ/สอบเทียบได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ โดยข้อตกลงนี้ผู้ร่วมลงนามจะยอมรับห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากเพื่อนสมาชิก โดยถือเสมือนว่า ห้องปฏิบัติการนั้นได้รับการรับรองจากตนเอง
          ปัจจุบันกว่า 40 หน่วยรับรองห้องปฏิบัติการได้ลงนามในการยอมรับร่วมเรียกว่า ILAC Mutual Recognition Arrangement และบัญชีรายชื่อหน่วยรับรองห้องปฏิบัติการที่เป็นสมาชิกสามารถค้นหา ได้ที่ www.ilac.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ "MORE INFO" และสามารถเลือกตั้งค่ายินยอมการใช้คุกกี้ได้โดยคลิก “ACCEPT”